สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา

Yo การอ่าน:293 24-06-2024 16:01:36 ความคิดเห็น:0

สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา

Image_20240620153914 (1).jpg

              ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ม.2(2)) การที่บุคคลจะตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาได้ จะต้องมีการกล่าวหาบุคคลนั้นว่าได้กระทำความผิดอาญาต่อเจ้าพนักงาน หรือเจ้าพนักงานเป็นผู้กล่าวหา     จากความหมายของผู้ต้องหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดเท่านั้น แต่การที่เขาจะกระทำความผิดจริงหรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆโดยศาล

               ในกรณีที่มีการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดไว้ในอำนาจรัฐโดยเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและถูกควบคุมตัวไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ดี เนื่องจากการดำเนินคดีอาญานั้น มีความจำเป็นต้องล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในบางเรื่องเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน อันจะนำไปสู่การพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับจึงมีบทบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลดังกล่าวไว้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีบทบัญญัติรับรองสิทธิของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา จำเลย ผู้เสียหาย และพยานไว้ ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้หลักประกันสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทยและปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหลายประการ โดยเฉพาะมาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งวางหลักไว้ว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นหลักสากลของกฎหมายอาญาโดยเฉพาะที่มุ่งคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ เพราะการลงโทษบุคคลใดจะต้องปรากฏหลักฐานที่ปราศจากข้อสงสัยว่าผู้นั้นกระทำความผิด

Image_20240620153924 (1).jpg

                  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาให้ได้รับความเป็นธรรม และเป็นการป้องกันมิให้ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกลงโทษในความผิดที่ตนมิได้กระทำ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงได้กำหนดการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นการสอบสวนไว้ ดังนี้

1. มีสิทธิแจ้งให้ญาติทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุม และได้รับการเยี่ยมตามสมควร โดยผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ที่ไว้วางใจทราบว่าตนถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุม ทั้งนี้ ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร

2. มีสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว โดยผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้พบกับทนายความและปรึกษา

3. มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย โดยเมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย

4. มีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อกล่าวหา และได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ และผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้

5. มีสิทธิที่จะได้รับการจัดหาทนายความเพื่อช่วยเหลือในคดี โดยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา และคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มถามคำให้การ ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้กับผู้ต้องหา

6. มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวนได้ โดยในการถามคำให้การผู้ต้องหานั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ทั้งนี้ ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำของตนได้

7. มีสิทธิที่จะไม่ถูกบังคับขู่เข็ญ หลอกลวง ให้สัญญาเพื่อให้การ โดยในการถามคำให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนดำเนินการที่เป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ เพื่อจูงใจให้ผู้ต้องหาให้การใด ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

8. มีสิทธิได้รับการสอบปากคำด้วยวิธีพิเศษเช่นเดียวกับพยานในกรณีที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี โดยให้พนักงานสอบสวนแยกดำเนินการในสถานที่ที่เป็นสัดส่วนและเหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กดังกล่าว

9. มีสิทธิที่จะได้รับการจัดหาล่ามภาษา ล่ามภาษาถิ่น ล่ามภาษามือ โดยการสอบสวนผู้ต้องหาที่ไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทย ไม่สามารถพูดหรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ และไม่มีล่ามภาษาล่ามภาษาถิ่น ล่ามภาษามือ แล้วแต่กรณี ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล จัดหาล่ามดังกล่าวให้กับผู้ต้องหา

10. มีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว โดยผู้ต้องหาหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันได้ แล้วแต่กรณี ไม่ว่าผู้ต้องหาดังกล่าวจะถูกควบคุมหรือขังตามหมายศาลก็ตาม โดยกรณีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ และกรณีที่ผู้ต้องหาต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นคำร้องต่อศาลดังกล่าว

 

กล่าวโดยสรุป แม้บุคคลจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แต่ยังมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลที่ทำให้บุคคลที่ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาต้องขาดอิสรภาพในชีวิตและร่างกาย ดังนั้นเจ้าพนักงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และผู้ต้องหาควรที่จะได้รับทราบถึงสิทธิต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีต่อไป


Facebook-Management YouTube Facebook-Consultant Facebook-Recruitment
คุณมองเห็นเรื่องนี้อย่างไร
  • ร้องไห้

    0คน

  • ไม่สำคัญ

    0คน

  • ดีใจ

    1คน

  • ปรบมือ

    0คน

  • น่ากลัว

    0คน

Notice

1. สถานีนี้ปฏิบัติตามมาตรฐานในวงการ และทุกบทความที่ถูกคัดลอกจะถูกทำเครื่องหมายชัดเจนว่าเป็นของผู้เขียนและแหล่งที่มา; 2. บทความต้นฉบับของสถานีนี้ โปรดระบุผู้เขียนและแหล่งที่มาเมื่อมีการคัดลอก เราจะดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ไม่เคารพสิทธิของผู้เขียน; 3. การส่งบทความของผู้เขียนอาจถูกดำเนินการแก้ไขหรือเพิ่มเติมโดยบรรณาธิการของเราในบางกรณีที่เหมาะสม

แสดงความคิดเห็น
ค้นหา
อันดับ
รายการแท็ก
ติดตามเรา

สแกนเพิ่มเราเป็นเพื่อน เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม

ความคิดเห็นล่าสุด

    กรุณาติดต่อเรา

    โปรดกรอกหมายเลขโทรศัพท์ของคุณ แล้วเราจะติดต่อกลับโทรศัพท์

    คุณคือผู้เยี่ยมชมคนที่ 41339 ของเว็บไซต์นี้ วันนี้มีบทความใหม่ 0 บทความ