ความแตกต่างระหว่าง“เอกสารปลอม”VS“เอกสารเท็จ”
เกี่ยวกับ TMA Group
TMA Group เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรและการให้คำปรึกษาทางธุรกิจในประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะให้บริการครบวงจรแก่ทั้งองค์กรและบุคคล รวมถึงการสรรหาบุคลากร การบริหารจัดการทางการเงิน การจัดการภาษี การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ และบริการอื่นๆ หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย ยินดีต้อนรับติดต่อเราตลอดเวลา
ความแตกต่างระหว่าง “เอกสารปลอม” VS “เอกสารเท็จ”
ในการทำงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคดีอาญาที่เป็นความผิดเกี่ยวกับเอกสาร มักจะมีปัญหา เกี่ยวกับการตีความหรือวินิจฉัยว่าเอกสารที่พิพาทนั้นเป็น “เอกสารปลอม” หรือ “เอกสารเท็จ” ซึ่งเอกสารทั้งสอง ประเภทนี้จะมีความใกล้เคียงกันบางประการและมีความแตกต่างกันบางประการ ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะขอนำ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาอธิบายให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ พร้อมกับยกตัวอย่างแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจมาฝากกัน
• เอกสารปลอม คืออะไร
คำนิยามของเอกสารปลอม หมายถึง “เอกสารที่ปรากฏข้อมูลว่าใครเป็นผู้ทำ แต่บุคคลดังกล่าว ไม่ได้เป็นผู้ทำจริง หรือเอกสารที่ทำขึ้นโดยผู้ทำเอกสารไม่มีอำนาจทำ แต่แอบอ้างว่าตนเองมีอำนาจ” โดยท่าน อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ กล่าวไว้ว่า จะเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ต้อง “เพ่งเล็งผู้ทำเอกสาร” และท่านอาจารย์ เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ กล่าวไว้ว่า การปลอมเอกสารเป็นการ “หลอกในตัวผู้ทำเอกสาร” โดยสรุปแล้ว “เอกสาร ปลอม” เป็นการลวงให้ผู้อื่นหลงเข้าใจผิดใน “ตัวบุคคลผู้ทำเอกสาร “ ดังนั้น เอกสารปลอม คือเอกสารที่ทำขึ้นเพื่อ
๑) หลอกให้ผู้อื่นที่เห็นเอกสารหลงเชื่อว่าผู้ที่ทำเอกสารคือใคร โดยที่ผู้นั้นไม่ได้จัดทำเอกสารขึ้น จริงๆ และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้อื่นทำ หรือ
๒) หลอกว่าผู้จัดทำเอกสารนั้นมีอำนาจทำเอกสารดังกล่าว โดยที่ผู้นั้นไม่มีอำนาจจัดทำจริง
ซึ่งหากเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งข้างต้นนี้ ถึงแม้เนื้อหานั้นจะถูกต้องกับความจริง ก็ถือเป็น เอกสารปลอม
ตัวอย่างคำพิพากษาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๒๖๙/๒๔๘๑ จำเลยเป็นครูใหญ่ มีอำนาจออกใบสุทธิ (ใบรับรองการศึกษา) ให้นักเรียนได้ แม้ออกใบสุทธิให้กับนักเรียนโดยผิดไปจากความจริง (นักเรียนจบ ป.๒ แต่ไปออกใบสุทธิว่าจบ ป.๓) ก็เป็นการทำเอกสารตามอำนาจหน้าที่ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะจำเลยมีอำนาจจัดทำใบสุทธิ
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๗๙๕/๒๕๑๘ จำเลยไม่ใช่ครูใหญ่ แม้อยู่ระหว่างยื่นเรื่องขออนุญาตบรรจุ เป็นครูใหญ่ แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยไปออกใบสุทธิ (ใบรับรองการศึกษา) ให้นักเรียน แม้เนื้อหา ในใบสุทธิจะเป็นความจริง (นักเรียนเรียนจบจริง) ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะจำเลยไม่มีอำนาจจัดทำ ใบสุทธิ
โดยเมื่อเปรียบเทียบฎีกาสองอันนี้เข้าด้วยกัน จะเห็นภาพชัดเจนว่า ถ้าผู้ทำเอกสารนั้นทำเอกสาร ดังกล่าวด้วยตนเองจริง และผู้ทำมีอำนาจทำเอกสารดังกล่าว แม้เนื้อหาในเอกสารนั้นเป็นเท็จก็ไม่ใช่เอกสารปลอม แต่ถ้าผู้ทำเอกสารนั้นไม่ได้ทำหรือไม่มีอำนาจทำเอกสารดังกล่าว แม้เนื้อหาในเอกสารนั้นเป็นความจริงก็ถือเป็นเอกสารปลอม ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาในเอกสารปลอมจะต้องเป็นจริงเสมอไป เนื้อหาในเอกสารปลอม อาจจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ แต่ประเด็นก็คือ เนื้อหาของเอกสารไม่ใช่ข้อตัดสินว่า เอกสารดังกล่าวจะเป็น เอกสารปลอมหรือไม่ เพราะต้องตัดสินที่ “ตัวผู้ทำเอกสาร” ถ้าบุคคลที่มีชื่อในเอกสาร เป็นผู้ทำเอกสารจริงและ บุคคลผู้นั้นมีอำนาจทำเอกสารได้ เอกสารนั้นก็ไม่ใช่เอกสารปลอม แม้เนื้อหาในเอกสารจะเป็นความเท็จ ดังนั้น เอกสารปลอมแบ่งเป็นสองแบบคือ “เอกสารที่ทั้งปลอมทั้งเท็จ” กับ “เอกสารที่ปลอมแต่ไม่เท็จ” ยกตัวอย่าง เช่น
เอกสารปลอมที่เนื้อหาตรงกับความจริง (เอกสารปลอมแต่ไม่เท็จ)
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๗๙๕/๒๕๑๘ เรื่องครูใหญ่ที่ยกตัวอย่างข้างต้น แม้นักเรียนจบการศึกษา จริง แต่จำเลยไม่ใช่ครูใหญ่ ไม่มีอำนาจออกใบสุทธิ ก็เป็นเอกสารปลอม
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๓๗๕/๒๕๒๒ แม้ข้อความที่ปรากฏในเอกสารจะเป็นความจริง แต่จำเลย ไม่มีอำนาจกระทำเอกสาร ก็เป็นเอกสารปลอมได้
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๖๑๗/๑๔๘๑จำเลยไม่มีอำนาจจดข้อความลงในเอกสาร แม้จะจดไปตาม ความจริงก็เป็นเอกสารปลอม
เอกสารปลอมที่เนื้อหาเป็นความเท็จ (เอกสารทั้งปลอมทั้งเท็จ)
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๙๓๔/๒๕๑๙ จำเลยปลอมเอกสารว่าสอบปากคำนาย จ.และลงลายมือ ชื่อนาย จ.ในเอกสาร ทั้งที่ไม่เคยสอบปากคำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๐๓๘๕/๒๕๔๖ ปลอมใบถอนเงิน โดยที่เจ้าของบัญชีไม่เคยทำใบถอนเงิน ดังกล่าวเลย
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๘๙๕/๒๕๔๖ อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของรถ และหลอกขายรถให้ผู้เสียหาย จากนั้นทำสัญญาซื้อขายรถเป็นชื่อตนเอง
ซึ่งการปลอมเอกสารจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ และหากผู้ใดนำเอกสารปลอมไปใช้จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘
• เอกสารเท็จ คืออะไร
คำนิยามของเอกสารเท็จ คือ “เอกสารที่ทำขึ้นโดยปรากฏข้อมูลว่าบุคคลใดเป็นผู้ทำ และบุคคล นั้นจัดทำเอกสารจริง และบุคคลดังกล่าวมีอำนาจจัดทำเอกสาร แต่เนื้อหาในเอกสารไม่ตรงกับความเป็นจริง”
ลักษณะของเอกสารเท็จจึงเป็นการลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในเนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารนั้น แต่ไม่ได้ลวงให้ผู้อื่นเข้าใจ ผิดในตัวผู้ทำเอกสาร หรือที่ท่านอาจารย์หยุด แสงอุทัย นิยามเอกสารเท็จว่าเป็น “หนังสือโกหก” หรืออีกนัยหนึ่ง เอกสารเท็จมีเจตนาในการ “หลอกในเนื้อหา” ดังนั้น ถ้าผู้จัดทำเอกสารมีอำนาจในการจัดทำเอกสารดังกล่าว ถึงแม้เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวจะเป็นความเท็จ ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
ตัวอย่างคำพิพากษาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่๑๔๑๑/๒๔๙๔ ถ้าผู้ทำเอกสารมีอำนาจทำเอกสารได้ ถึงเนื้อหาในเอกสาร
จะเป็นเท็จก็ไม่เป็นเอกสารปลอม มีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๕๔๕/๒๔๙๔ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๓/๒๕๑๖
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่๑๕๒๔๘-๑๕๒๔/๒๕๕๗ และคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๐๓๒/๒๕๕๘ ินิจฉัยไปทำนอง
เดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่๒๙๐๗/๒๕๐๖ จำเลยเป็นเลขานุการสภาเทศบาล ทำรายงานการประชุม
อันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่อาจผิดฐานทำเอกสารราชการอันเป็นเท็จ มีคำพิพากษาศาลฎีกา
ที่ ๖๕๐๙/๒๕๔๙ วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๓๔/๒๔๙๑ จำเลยมีหน้าที่ในการจัดทำบิลสินค้า ทำเอกสารอันเป็นเท็จว่า
เอาสินค้าไปขายที่ร้านค้า แต่ไม่ได้เอาไปขายที่ร้านค้าดังกล่าวจริง แต่เอาไปขายร้านอื่น และแอบเอากำไรส่วนต่างไปการทำเอกสารดังกล่าวเป็นการทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่ ตามตำแหน่งของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่๔๘๔/๒๕๐๓ วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่๑๐๖/๒๔๙๗ จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันจริง แต่แกล้งทำสัญญา
เช่าขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างส่งต่อศาล ไม่เป็นเอกสารปลอม เพราะทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์ทำสัญญากันเองได้ โดยมี
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๐๔๖-๑๐๔๗/๒๕๒๖ วินิจฉัยไปทำนองเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๗๕๑/๒๕๑๕ ผู้จัดการธนาคารลงลายมือชื่อรับรองตั๋วแลกเงินเกินอำนาจ
ของตน เป็นการทำตามหน้าที่ แม้ผิดระเบียบของธนาคารก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยมีคำพิพากษา
ศาลฎีกา ที่ ๓๖๘/๒๕๒๑ วินิจฉัยไปทำนองเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๓๔๗/๒๕๐๘ จำเลยทำบัญชีรับจ่ายอันเป็นเท็จ แต่เป็นการทำในนาม
ตนเอง ไม่เป็นเอกสารปลอม
โดยหากผู้ทำเอกสารมีอำนาจจัดทำเอกสารและไม่ได้แอบอ้างชื่อคนอื่นในการทำเอกสาร
แม้เนื้อหาในเอกสารไม่ถูกต้อง ก็ไม่เป็นเอกสารปลอม แต่ถือเป็นเอกสารเท็จ
หากบุคคลธรรมดาจัดทำเอกสารเท็จ ไม่มีความผิดอาญาตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่หากผู้จัดทำ
เอกสารเป็นเจ้าพนักงานอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๖๒ และหากผู้จัดทำเอกสารเท็จเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพก็อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๖๙ และหากบุคคลธรรมดาไม่ได้จัดทำเอกสารเองแต่แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการก็อาจเป็นความผิดฐานแจ้งเจ้าพนักงานให้จดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๖๗
กล่าวโดยสรุปแล้ว หากจะพิจารณาว่าอย่างใดเป็นเอกสารปลอมและอย่างใดเป็นเอกสารเท็จ
ต้องพิจารณาถึงข้อแตกต่างของเอกสาร กล่าวคือ
๑.เรื่องเนื้อหา โดยเอกสารปลอม เนื้อหาในเอกสารปลอมอาจจะเป็นความจริงหรืออาจจะเป็น
ความเท็จก็ได้ ส่วนเอกสารเท็จ เนื้อหาในเอกสารเท็จ จะต้องเป็นความเท็จเท่านั้น
๒. เรื่องอำนาจในการทำเอกสาร โดยเอกสารปลอมจะต้องจัดทำโดยบุคคลอื่นที่ไม่ได้ปรากฏใน
เอกสารหรือผู้จัดทำไม่มีอำนาจทำเอกสารดังกล่าว ส่วนเอกสารเท็จจะต้องจัดทำโดยบุคคลซึ่งมีอำนาจในการทำเอกสารดังกล่าว
๓. ประเด็นที่หลอก โดยเอกสารปลอมจะต้องจัดทำขึ้นเพื่อให้เชื่อว่าบุคคลใดเป็นคนทำเอกสาร
หรือเพื่อให้เชื่อว่าผู้จัดทำเอกสารมีอำนาจทำเอกสารดังกล่าวได้ ส่วนเอกสารเท็จจัดทำขึ้นเพื่อให้เชื่อว่าเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวเป็นความจริง
๔. การปรับบทกฎหมาย โดยการปลอมเอกสารปรับใช้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔
มาตรา๒๖๕ และมาตรา๒๖๖ ส่วนเอกสารเอกสารเท็จปรับใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา๒๖๗ มาตรา๒๖๙
และมาตรา๑๖๒
อ้างอิง https://lawdivision.kku.ac.th/7635/
1. สถานีนี้ปฏิบัติตามมาตรฐานในวงการ และทุกบทความที่ถูกคัดลอกจะถูกทำเครื่องหมายชัดเจนว่าเป็นของผู้เขียนและแหล่งที่มา; 2. บทความต้นฉบับของสถานีนี้ โปรดระบุผู้เขียนและแหล่งที่มาเมื่อมีการคัดลอก เราจะดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ไม่เคารพสิทธิของผู้เขียน; 3. การส่งบทความของผู้เขียนอาจถูกดำเนินการแก้ไขหรือเพิ่มเติมโดยบรรณาธิการของเราในบางกรณีที่เหมาะสม
